สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 3 ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ในพระบรมมหาราชวัง
พ.ศ. 2446 เมื่อพระชนม์ได้ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณทราชาวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐ์บุรุษ ชนุดมรัตรพัฒนศักดิ์ อัครราชวรกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์” มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรม”
พ.ศ. 2447 ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชอุปธยาจารย์ ประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงลาผนวช วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2447 และในปีเดียวกันได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนแฮร์โรว์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. 2450 ได้ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ (Groß-Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกและสอบได้เป็นเฟนริช (Fähnrich) คือ นักเรียนทำคะแนนได้ดีมาก โดยพระองค์เขียนและแต่งเรียงความได้อย่างดีไม่ต้องสอบปากเปล่า การสอบในครั้งนั้นมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 400 คน โดยมีคนที่ทำคะแนนได้เท่าพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุด หลังจากนั้น พระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือแทนวิชาทหารบกที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟล็นส์บวร์ค-เมือร์วีค (Marineschule Flensburg-Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
พ.ศ. 2457 เสด็จกลับเมืองไทย และได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท พ.ศ. 2458 ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ ต่อมาทรงย้ายไปประจำกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหาเรือ
พ.ศ. 2459 ทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ School for Health Officer มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิกแล้ว พระองค์ทรงหยุดการศึกษาแพทย์ชั่วคราวและลงทะเบียนเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธารณสุขซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี พ.ศ. 2462 ระหว่างการศึกษาพระองค์ได้ พระราชนิพนธ์รายงานการศึกษาเรื่อง A sanitary survey of the city of Gloucester, Massachusetts 1921 และทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2464 ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดพระองค์เช่าอพาร์ทเม็นต์และมีคนใช้จำนวน 1 คน พระองค์ใช้พระนามว่า “มิสเตอร์มหิดล สงขลา”
และระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษายู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ
ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ 3 ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
พ.ศ. 2469 พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาแพทย์ต่ออีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากนั้น พระองค์เสด็จนิวัตกลับประทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 และไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้าน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเข้าเป็นสมาชิกของแพทยสมาคม ทำการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านได้เพียง 3 สัปดาห์ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงร่วมในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้นเริ่มประชวร พระอาการประชวรหนักขึ้นจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 รวมพระชนมายุ ได้ 37 ปี 8 เดือน 23 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2513 ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชบิดา” และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2513 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้น สามารถพบได้ 2 แบบ ได้แก่ มหิดลอดุลเดช และ มหิดลอดุลยเดช โดยเมื่อแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามแก่พระองค์ในการสมโภชเดือนว่า "มหิดลอดุลเดช" ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏขึ้น พร้อมกันนี้ พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสงขลานครินทร์" โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรในครั้งนี้ ว่า "มหิดลอดุลยเดช"
หลังจากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระนามกรมของพระองค์ขึ้นเป็น "กรมหลวงสงขลานครินทร์" และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนามของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจึงกลับมาใช้ว่า "มหิดลอดุลเดช" อีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาว่า "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" และในสมัยปัจจุบันการเขียนพระนามของพระองค์ก็นิยมเขียนว่า "มหิดลอดุลยเดช" ส่วนนามสกุลนั้น เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น พระองค์ใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใช้พระนามว่า Mrs. Songkla ดังนั้น พระโอรสและพระธิดาของพระองค์จึงใช้นามสกุลว่า "สงขลา"
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น 5 เมื่อ พ.ศ. 2472 โดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกให้ใช้ราชสกุลว่า "มหิดล" จนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชโอรส-ธิดา 3 พระองค์ดังนี้
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือและสถานี ทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ
ทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่าง ๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช
ในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล[4] นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี