แพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525มีภารกิจตั้งแต่กำกับดูแลการผลิตแพทย์ใน 27 คณะแพทยศาสตร์ ไปจนถึงควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกว่า 70,000 คน ในสาขาเชี่ยวชาญ 94 สาขาภายใต้ 15 ราชวิทยาลัยแพทย์/วิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์ไทยมีภาระในการดูแลรักษาความเจ็บป่วยของประชาชน 70 ล้านคน ปีละกว่า 300 ล้านครั้งในทุกภาคส่วน จากความซับซ้อนทางวิชาการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่แล้ว ด้านสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย ระบบบริการสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีการพัฒนาและทวีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ อีกทั้งในปัจจุบัน ระบบสุขภาพยังต้องเผชิญกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EHR) ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อวิธีคิดวิธีทำงานและการตัดสินใจทางคลินิกของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ แพทยสภาจึงได้จัดตั้ง สถาบันมหิตลาธิเบศร ขึ้นเป็นสถาบันทางวิชาการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการแพทย์ของไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการฝึกอบรมและการเสริมสร้างองค์ความรู้นอกวิชาการแพทย์ (Non-technical Skills) เช่น ภาวะผู้นำ การสื่อสาร การคิดเชิงระบบ ความเข้าใจด้านนโยบายสาธารณสุขและทักษะด้านดิจิทัล ให้แก่บุคลากรทางแพทย์และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยสถาบันมหิตลาธิเบศรจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของวงการแพทย์ในอนาคตเพื่อนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนการพัฒนาทักษะในมิติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการระบบสุขภาพในยุคใหม่ อาทิการบริหารจัดการ กฎหมาย เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และการเงิน ดิจิทัลทางการแพทย์ ธรรมาภิบาลและการสื่อสารกับสังคม
เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ทางดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพรวมถึงเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดี ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อการบริหารองค์กรได้
เพื่อเสริมสร้างเจตคติ (Attitude) ที่ดีในการตระหนักรู้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมไปถึงส่งเสริมพฤติกรรมความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล ที่สามารถยกระดับการดูแลสุขภาพยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อเสริมสร้างทักษะ (Skill) ในการคิด วิเคราะห์และคัดสรรเครื่องมือเพื่อประยุกต์ใช้ ในการแก้ไขปัญหาด้านการดูแลสุขภาพด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมไปถึงการถกแถลงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงหลากหลายมิติ
มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 65 ปี (นับจนถึงวันรับสมัคร) และต้องวุฒิการศึกษา ไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และมีประสบการณ์การทำงานหรือการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข หรืองานด้านดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ โดยผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตร จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. แพทย์
2. บุคลากรทางด้านการแพทย์ (ไม่ใช่แพทย์)
3. บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไม่ใช่แพทย์)
4. บุคลากรทั่วไป ทั้งภาครัฐและเอกชน (ไม่ใช่แพทย์)
ระยะเวลาในการศึกษา
การเรียนการสอนในหลักสูตรจะใช้เวลาเรียนประมาณ 16 สัปดาห์ (รวม 132 ชั่วโมง) โดยเรียนสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 วัน (วันเสาร์เต็มวัน และวันศุกร์บางสัปดาห์) วันละ 2 คาบ ระหว่างเวลา 09.30 – 17.00 น. (ยกเว้นกรณีศึกษาดูงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ) ณ อาคารมหิตลาธิเบศร แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี และสถานที่ที่สถาบันฯ กำหนดกรณีมีการศึกษาดูงานและกิจกรรมการเรียนรู้พิเศษนอกสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะแจ้งล่วงหน้า
สถาบันมหิตลาธิเบศร อาคารมหิตลาธิเบศร
ชั้น 9 เลขที่ 88/19 ซอยสาธารณสุข 8 กระทรวงสาธารณสุข
ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
อีเมล : mtbggm@gmail.com เบอร์โทร : 0-2591-0049, 081-090-9000
คุณสิรภพ ยุวะสุต หมายเลขโทรศัพท์ 098-262-9984
คุณนวพรรษ เหล่าสาย หมายเลขโทรศัพท์ 091-886-2629
คุณวีระยุทธ รันใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 090-978-6900